Dropship ขายของออนไลน์ ไม่ต้องสต๊อกสินค้า

ผมเขียนถึงการ Dropship ไว้ค่อนข้างเยอะในบล๊อกก่อนๆ ของผม แต่อาจยังมีบางคนที่ไม่เข้าใจว่ามัน คืออะไร ทำงานอย่างไร วันนี้ ผมจะมาอธิบายให้เข้าใจ ถึงการขายของออนไลน์ หรือ ขายของกับ Amazon ด้วยการทำ Dropship ให้มากขึ้น
เมื่อก่อนการขายของออนไลน์ จะเหมือนกับการขายสินค้าแบบปกติ นั่นคือ มีการลงทุนซื้อสินค้ามาสต๊อกไว้ก่อน เพื่อเตรียมพร้อมในการจำหน่าย แต่ถ้าบางคนมีเครดิตการค้า ก็จะสามารถยืมสินค้ามาจำหน่ายก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินคืนทีหลังเมื่อครบกำหนดเวลา

Dropship คืออะไร
ต่อมา เมื่อยุคที่สินค้ามีการผลิตออกมามากขึ้นอย่างในปัจจุบัน ผู้ขายที่มีสินค้าอยู่ในสต๊อกจำนวนมาก (เนื่องจากต้องซื้อในราคาส่งจากโรงงานผู้ผลิต) ต้องการที่จะระบายสินค้าออกไปให้เร็วที่สุด จึงมีระบบการรับ “ตัวแทนจำหน่าย” ขึ้นมา และวิธีที่ใช้ก็คือ Dropship นั่นเอง

ผู้ขายของออนไลน์ในตลาดตอนนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวแทน และใช้วิธีการส่งสินค้าแบบนี้เป็นหลัก ผมเองก็ใช้การสมัครเข้าเป็นตัวแทนขายสินค้า ให้คนอื่นๆ ในหลายๆสินค้าที่ขายออนไลน์ในบ้านเราด้วยครับ
ด้านบนนี่คือแผนภาพที่ผมขอยืมภาพมาจาก eBay.com ซึ่งหลักของ Dropship จริงๆ จะอยู่ที่ขั้นตอนที่ 4-5 ครับ โดยภาพนี้จะอธิบายขั้นตอนทั้งหมดไว้ดังนี้
  • วางสินค้าใน Market Place : วางสินค้าของเราให้พร้อมจำหน่าย โดยจะวางไว้ที่ไหนก็ได้เช่น Amazon.com, eBay.com เป็นต้น
  • มีผู้สนใจสั่งซื้อสินค้า : ลูกค้าทำการซื้อสินค้าผ่านทาง Market Place ที่เราได้ลงสินค้าไว้
  • จ่ายเงินกับเรา : ลูกค้าจะจ่ายเงินค่าสินค้าให้เรา ผ่านทางช่องทางการจ่ายเงินต่างๆ เช่น บัตรเครดิต, Amazon Payment หรือ Pay Pal เป็นตน
  • สั่งซื้อสินค้าจาก Dropshipper : เราสั่งซื้อและจ่ายเงินค่าสินค้าแก่ Dropshipper และเก็บส่วนต่างของราคาไว้ (กำไร)
  • Dropshipper จัดส่งสินค้า : Dropshipper จะทำการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าของเรา โดยจัดส่งให้ในนามร้านค้าของเรา
จะเห็นได้ว่า การขายของออนไลน์ด้วยวิธีนี้ เราไม่ต้องมีสินค้าในสต๊อกเลยแม้แต่ชิ้นเดียว สรุปวิธีการสั้นๆ ง่ายๆ จะมีขั้นตอนดังนี้
  • นำรูปสินค้าและรายละเอียดจากเว็บ Dropshipper มาใส่ในเว็บขายสินค้าของเรา หรือ Market Place อื่นๆ
  • มีลูกค้ามาซื้อกับเราและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเรา
  • ทำการสั่งซื้อและโอนเงินไปยัง Dropshipper พร้อมแจ้งที่อยู่ลูกค้า
วิธีการทำงานก็มีเพียงเท่านี้ครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายดายไปหมดเสียทีเดียว ทุกอย่างย่อมมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันออกไป สำหรับวิธีการนี้ก็มีข้อดีข้อเสียเหมือนกัน เช่น
ข้อดีคือ
  • ไม่ต้องลงทุนเป็นเงินจำนวนมาก ในการซื้อสินค้ามาสต๊อกเอาไว้
  • สามารถขายสินค้าได้ทันที ส่วนใหญ่จะมีรูปสินค้าและรายละเอียดให้พร้อมทำอยู่แล้ว
  • รับเงินจากลูกค้าก่อน หมดปัญหาขาดสภาพคล่อง
  • ไม่ต้องเสียเวลาจัดการเรื่องการบรรจุกล่อง และจัดส่งสินค้า
  • ส่งสินค้าในนามร้านของเรา
ข้อเสียคือ
  • ถ้าเราไม่เคยเห็นสินค้า หรือไม่รู้จักสินค้าเลย อาจทำให้เราไม่สามารถตอบคำถามของลูกค้าได้
  • ต้องเลือก Dropshipper ที่ไว้ใจได้ อ่านการเลือก Dropshipper คู่ใจอย่างไรดี
  • ถ้าระบบจัดการสต๊อกไม่ดี อาจไม่มีสินค้าส่งให้ลูกค้าได้ เกิดการขอคืนเงินตามมา